ช่วงฤดูฝน ปัญหาที่เจ้าของน้องหมาหลายคนคงหนีไม่พ้น ก็คือ ปัญหาเรื่องเห็บ แต่ที่เห็นจะร้ายกว่าเห็บก็คือ ภัยเงียบที่มากับเห็บเนี่ยแหละครับนั่นคือเจ้า “โรคพยาธิในเม็ดเลือด” นั่นเอง
เกิดจากการติดเชื้อของสัตว์เซลล์เดียวในเม็ดเลือด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโปรโตซัวและริคเก็ตเซีย ได้แก่ บาบิเซีย (Babesia sp.) เฮปปาโตซูน (Hepatozoon sp.) เออร์ลิเชีย (Ehrlichia sp.) อะนาพลาสมา (Anaplasma sp) และบาร์โทเนลล่า (Bartonella sp.) แต่ที่พบได้บ่อยในบ้านเราคือ 3 ตัวแรก
เรามาแยกทำความรู้จักกับเชื้อที่ทำให้เกิดเป็นโรคพยาธิในเม็ดเลือดไปทีละตัวกันนะครับ มาดูกันว่าเชื้อแต่ละตัว ก่อให้เกิดอาการกับน้องหมาได้อย่างไรบ้าง
บาบีเซีย Babesiosis (B.canis&B.gibsoni)
เชื้อ Babesia spp. จะอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดแดง คล้ายกับเชื้อที่ทำให้เกิดโรคมาเลเรียในคนเมื่อเชื้อเพิ่มจำนวนจะทำให้เม็ด เลือดแดงของสัตว์ถูกทำลาย และมักพบอาการ ดังต่อไปนี้
- โลหิตจาง (anemia) เยื่อเมือกจะซีด เหงือกซีด
- ไข้สูง
- ซึม เบื่ออาหารหรือไม่กินอาหาร
- ลูกสุนัขอายุน้อยที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะมีอัตราการตายสูงมาก
- กรณีป่วยเรื้อรัง อาจพบอาการดีซ่าน เนื่องจากสภาพเม็ดเลือดถูกทำลายอย่างมากและตับได้รับความเสียหายจากการที่เลือดไปเลี้ยงตับไม่พอทำให้เซลตับตายจากการขาดเลือด
- อาจพบภาวะไตวายแทรกซ้อนได้เช่นกัน หากเลือดไปเลี้ยงไปไม่พอ
เฮปปาโตซูน Hepatozoonosis (H.canis)
เชื้อ Hepatozoon spp จะอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophils ซึ่งจะมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันของสัตว์ลดลงจากปกติ เนื่องจากเม็ดเลือดขาวดังกล่าวจะถูกทำลาย และสูญเสียประสิทธิภาพในการป้องกันตัวเองจากเชื้อภายนอก อาการที่มักพบคือ
- มีไข้ขึ้นๆลงๆ และไม่ค่อยตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ
- ผอมแห้ง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
- โลหิตจาง
- มีอาการเจ็บตามกล้ามเนื้อที่สัมผัส มักพบอาการเจ็บขาหรือท่าเดินผิดปกติ ระยะยาวอาจพบกล้ามเนื้อฝ่อลีบตามมา
- มักจะพบการติดเชื้ออื่นๆร่วมด้วย และอาจเป็นสาเหตุเริ่มต้นของโรคอื่นๆที่อาจพบภายหลัง
**โดยมากเชื้อ Hepatozoon canis มักเป็นเชื้อแฝงในร่างกายเมื่อสัตว์อ่อนแอจะทำให้สัตว์แสดงอาการของโรคออกมาได้
เออร์ลิเชีย Ehrlichiosis (Ehrlichia canis,E.chaffeensis และ Anaplasma phagocytophila) เชื้อ Ehrlichia spp.
จะอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดขาว ความรุนแรงของโรคจะใกล้เคียงกับโรค babesiosis เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากที่สุดในสุนัข อาการของโรคที่มักพบคือ
- โลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ
- ไข้สูง
- มีจุดเลือดออกตามเยื่อเมือก และผิวหนังตามส่วนต่างๆของร่างกาย
- ต่อมน้ำเหลืองบวม
- ซึม, เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และติดเขื้อแทรกซ้อนอื่นๆได้ง่าย
- มักทำให้มีจุดเลือดออกที่จอประสาทตา
- โรคจะมีความรุนแรงในสัตว์อายุน้อย โดยทำให้อัตราการตายสูง ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือวินิจฉัยอย่างทันที
สำหรับการรักษาก็จะแยกไปตามชนิดของเชื้อ
หากน้องหมาป่วยด้วยเชื้อเออร์ลิเชียคุณหมอจะฉีดยาหรือจ่ายยาในกลุ่ม tetracycline ให้ป้อนกินติดต่อกันอย่างน้อย 21-28 วัน ร่วมกับการรักษาตามอาการ เช่น หากมีภาวะโลหิตจางก็ต้องให้ยาบำรุงเลือดหรือถ่ายเลือดให้ เป็นต้น
ส่วนกรณีที่ป่วยด้วยเชื้อบาบิเซียและเฮปปาโตซูน คุณหมอจะรักษาด้วยการฉีดยา เช่น กลุ่ม aromatic diamidine (Imidocarb) จำนวนสองครั้ง โดยฉีดห่างกัน 14 วัน แต่ยานี้เป็นสารเคมีซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้ไอ น้ำลายไหล จึงจำเป็นต้องให้ร่วมกับในกลุ่ม anti-colinergic เพื่อลดผลข้างเคียงดังกล่าว
แต่ไม่ว่าจะติดเชื้อชนิดใดก็ตาม หลังจากการรักษา ก็ควรจะต้องมีการตรวจเลือดซ้ำ เพื่อประเมินสภาพไปเป็นระยะๆ ครับ ซึ่งโรคพยาธิในเม็ดเลือดนี้ บางเชื้อ เช่น เฮปาโตซูนอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากเชื้อสามารถซ่อนตัวอยู่ในตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลืองได้ เมื่อสัตว์ที่เคยเป็นโรคนี้อ่อนแอลง ก็อาจจะกลับมาป่วยได้อีก
และตราบใดที่ยังมีเห็บอยู่ในสภาพแวดล้อม น้องหมาก็พร้อมที่จะกลับติดเชื้อและป่วยได้ใหม่อีกครั้งเช่นกัน ที่สำคัญ คือ ควรต้องป้อนยาให้ครบตามที่คุณหมอจัดให้ เพราะมีเจ้าของบางท่านที่มักจะหยุดป้อนยาเมื่อน้องหมามีอาการดีขี้น ซึ่งทำให้การรักษาไม่ได้ประสิทธิภาพ และโรคอาจพัฒนาเป็นแบบเรื้อรังในที่สุด
Cr. www.dogilike.com , http://www.click2vet.com, http://dogs.lovetoknow.com
บทความแนะนำ