โรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร
พิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือที่เรียกกันว่า โรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสที่มีสาเหตุจากการถูกสัตว์ที่ติดเชื้อกัดหรือข่วน ไม่เพียงแต่สุนัขเท่านั้นที่สามารถแพร่กระจายเชื้อมาสู่คนได้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใดก็ตามล้วนสามารถส่งผ่านเชื้อพิษสุนัขบ้ามาสู่คน ไม่ว่าจะเป็น วัว ม้า แมว แกะ สุนัข รวมถึงสัตว์ป่าทั้งหลาย
สัตว์ติดโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร
โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อได้โดยตรงจากการถูกสัตว์ที่ติดเชื้อกัด
ทำให้ได้รับเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ําลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ นอกจากนี้มีรายงานการติดเชื้อไวรัสระหว่างสัตว์โดยการกินนมที่ไม่พาสเจอร์ไรซ์ เชื้อไวรัสนี้จะไม่แพร่กระจายผ่านทางเลือดปัสสาวะหรืออุจจาระ
อาการของสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
เชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าจะทําอันตรายต่อสมองของสัตว์
- อาจดุร้าย ไม่เป็นมิตรหรือหวาดกลัว กระวนกระวาย
- ขาอัมพาต
- กลืนน้ำลายลําบาก เสียงเปลี่ยน
- ตอบสนองต่อการกระตุ้นของเสียงหรือแสงมากกว่า
- สัตว์มักตายภายหลังมี เชื้อออกมาในน้ําลาย7-10วัน
จะป้องกันสัตว์จากโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร
สุนัขควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า คนส่วนใหญ่ “คิดว่าสุนัขหรือแมวที่ได้รับวัคซีน 1 ครั้งจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต ไม่มีโอกาสเป็นบ้า”…จริงๆแล้วนั่นเป็นความเชื่อที่ผิด ดังนั้นสุนัขและแมวต้องได้รับวัคซีน 2 ครั้งในปีแรก เข็มแรกตอนอายุประมาณ12สัปดาห์หรือ3เดือน และควรฉีดพิษสุนัขบ้า 1 เข็มในทุกๆปี มิฉะนั้นยังมีโอกาสเป็นบ้าได้เมื่อได้รับเชื้อ
คนติดโรคพิษสุนัขบ้าได้หรือไม่
คนสามารถติดโรคพิษสุนัขบ้าได้จากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อไวรัส กัดหรือ ข่วน
อาการของคนที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนมากจะไม่แสดงอาการของโรคพิษสุนัขบ้าจนกระทั่ง1-3เดือนหลังจากได้รับเชื้อ อาการเริ่มต้นของโรคนี้จะคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยอาจมีไข้ เป็นเหน็บชา และกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมถึงความรู้สึกแสบร้อนที่แผล หลังจากนั้นอาการจะเริ่มพัฒนาไปสู่ระยะที่โรครุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้แล้ว
โดยอาการจะแสดงใน 2 ลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละราย
กลุ่มอาการสมองอักเสบ พบได้ประมาณ 80% ของผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า โดยจะส่งผลให้มีอาการรุนแรงปรากฏในลักษณะต่อไปนี้
- กลัวน้ำ ไม่สามารถกลืนน้ำลายได้
- มีการเกร็งของกล้ามเนื้อใบหน้าและลำคอ กล้ามเนื้อที่ใช้กลืน และกล้ามเนื้อหายใจ
- กลืนอาหารลำบาก
- พูดไม่ชัด
- สมองอักเสบ ทำให้เกิดประสาทหลอน มีอาการสับสน หวาดระแวง คุ้มคลั่ง กระสับกระส่าย และโคม่าได้
- มีการหลั่งน้ำลายและเหงื่อมากกว่าปกติ
กลุ่มอาการแบบอัมพาต
พบในผู้ป่วยประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้เวลาแสดงอาการยาวนานกว่าชนิดสมองอักเสบ และจะส่งผลให้กล้ามเนื้อของผู้ป่วยค่อย ๆ อ่อนแรงลงและเป็นอัมพาต นำไปสู่อาการโคม่าและเสียชีวิตได้ในที่สุด
ดังนั้น ทางกรมควบคุมโรคจึงฝากคำเตือน 5 อย่า เพื่อให้ห่างไกลโรคพิษสุนัขบ้า ดังนี้ครับ
- อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห
- อย่าเผลอไปเหยียบให้สุนัขเจ็บ
- อย่าแยกเวลาหมากัดกัน เพราะอาจถูกลูกหลง วิธีที่ถูกให้ใช้น้ำฉีดเข้าปากสุนัข ไม่ควรใช้น้ำร้อนสาด
- อย่าหยิบขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร เพราะมันอาจคิดว่าถูกแย่ง และ
- อย่ายุ่งกับสุนัขแปลกหน้า
การป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้าในคน
ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ การรักษาจึงทำได้เพียงการดูแล ประคับประคอง และรักษาตามอาการเท่าที่จะทำได้เท่านั้น ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราต้องทำก็คือ การป้องกันนั่นเองครับ
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า
จะต้องฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง ในวันที่ 0, 7 และ 21 หรือ 28 หลังจากนั้นอีก 1 ปีอาจฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้งเพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงกว่าระดับที่ป้องกันโรคได้เป็นระยะเวลานาน
- เมื่อถูกสัตว์กัด การฉีดวัคซีนกระตุ้นเพียง 1-2 เข็ม ร่างกายก็จะได้ภูมิต้านทานที่สูงพอจะป้องกันโรคอย่างได้ผล
- ไม่เสี่ยงต่อการแพ้เซรุ่ม หรือเจ็บปวดจากการฉีดเซรุ่มรอบ ๆ แผล
กรณีที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า
หากเราถูกสุนัขกัด ควรรีบล้างน้ำแล้วรีบไปพบแพทย์ แพทย์จะพิจารณาอาการ ลักษณะแผล คนไข้และสัตว์ที่กัด และอาจจะทำการฉีดวัคซีนแบบหลังการสัมผัสอีกครั้งหนึ่ง